ทริคการเอาตัวรอดในแดนที่พูดภาษาที่เราไม่เข้าใจ

10963

เคยไหมที่รู้สึกว่าไม่กล้าออกไปท่องโลกเพราะมีกำแพงด้านภาษา ?

เคยไหมที่รู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวยามอยู่ต่างแดน ?

เคยไหมที่หลงทางแล้วอยากจะร้องไห้มันซะตรงนั้น ?


ปัญหาของคุณจะหมดไปในวันนี้หากคุณอ่านบทความนี้จบ !!!


ขึ้นหัวมาโอเว่อร์ไปหน่อย แต่เรื่องภาษานั้นเป็นเรื่องที่กวนใจนักท่องเที่ยวมาอย่าช้านานแล้ว ตอนเริ่มต้นเดินทาง เราก็ไปร่ำเรียน เขียนอ่าน ภาษาอังกฤษมาเสียอย่างดี แต่ปรากฎว่า สถานที่ที่เราจะไปดันไม่พูดภาษาอังกฤษกันซะยังงั้น วันนี้เราเลยมีทริคดี ๆ ที่จะทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างราบลื่น แม้จะอยู่ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ตามที เราไปดูกัน ว่าเราทำยังไงในประเทศเหล่านั้น


 จองโรงแรมหรือ HOSTEL ที่มั่นใจว่าพูดภาษาอังกฤษได้ 


แน่นอนว่าเราต้องหาคนที่สามารถพึ่งพาได้ซักคนนึงก่อน โดยระหว่างทริป คน ๆ นี้นี่แหละที่จะมีความสำคัญกับเราอย่างที่สุด โดยจะถามทาง กางแผนที่ หรือติดต่อเช่าอะไรต่าง ๆ ก็ต้องถามหาเขาคนนี้นี่แหละ ฉะนั้นก่อนจองโรงแรม ลองดูฟีดแบคจากรีวิวให้ดีก่อน ว่าพนักงานพูดภาษาอังกฤษได้


เก็บชื่อสถานสำคัญในภาษานั้น ๆ ติดตัวไว้ 


เป้นวิธีที่ได้ผลแน่นอนมากกว่าการพยายามออกเสียงให้ถูกต้อง โดยในหลาย ๆ ภาษา ถึงเราพยายามออกเสียงยังไงก็ไม่มีทางจะออกเสียงได้ถูกเลย คล้าย ๆ กับที่ชาวต่างชาติพยายามถามทางเรานั่นแหละ ฉะนั้นเก็บชื่อสถานที่เอาไว้กับตัว ไม่ว่าจะ print ออกมา หรือจะเก็บเอาไว้ในมือถือก็แล้วแต่

hotelname-1


พกนามบัตรโรงแรมเสมอ 


บางครั้งเมืองที่เราไปเยือนก็ช่างสวยงามน่าเดินเที่ยวไปเสียทุกมุม เดินไปเดินมาก็พาลหลงทางซะนี่ หรือบางครั้งไม่หลงทาง แต่ก็พบว่าที่พักช่างอยู่ไกลเกินกว่าจะเดินกลับเหลือเกิน จะเรียกแท็กซี่ก็บอกไม่ถูกอีกว่าตรงไหน ฉะนั้น ยื่นนามบัตรไปให้พี่แท็กซี่ดูจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด

Sanya-david-legend-NameCard


พกแผนที่เสมอ


จะแผนที่เป็นแผ่น ๆ หรือในมือถือก็แล้วแต่ ควรจะพกติดเอาไว้เสมอ ดูไม่เป็นก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อย มันเอาไว้อ้างอิงตำแหน่งของตัวเองจากคนรอบข้างได้ ก่อนออกจากโรงแรมก็ให้คนที่โรงแรมกาในแผนที่ให้ก็ได้ว่าโรงแรมอยู่ตรงไหน สถานที่เที่ยวหลักอยู่ตรงไหน (ซึ่งมักจะแสดงในแผนที่อยู่แล้ว ) บางโรงแรมยังใจดี ทำแผนที่ของตัวเองพร้อมเส้นทางเดินให้อีกด้วย แต่ถ้าหลงทางจริง ๆ ก็ให้เลือกถามคนที่ไว้ใจได้ อาจจะเป็นคนในร้านสะดวกซื้อก็ได้ ส่วนใหญ่ถึงพูดไม่ได้ ก็ชี้มือชี้ไม้ให้เรารู้เรื่องได้


ใช้ภาษาภาพ


ใครที่วาดภาพพอจะเป็น นี่เป็นอีกวิธีที่คลาสสิคที่สุด เนื่องจากภาษาภาพเป็นภาษาสากล มนุษย์ทุกคนล้วนเข้าใจ เช่น เราเข้าไปที่ร้านอาหาร อยากทานปลา ถ้ามีให้ชี้ก็ดีไป แต่ถ้าไม่มี ก็ลองหยิบกระดาษมาวาดรูปปลาแบบที่เด็ก ๆ ชอบวาดกัน เชื่อว่าง่าย และรวดเร็วกว่าการเปิด ดิคชันนารี หาคำศัพท์แน่นอน  โดยคำที่ใช้บ่อย ๆ เรามีตัวอย่างเป็นไอเดียให้ดูด้วย ดูซิว่าทายกันถูกไหม

sign


ภาษาร่างกาย


ถ้าเคยดูรายการเกมโชว์หลายรายการ มักจะมีการใบ้คำโดยใช้ภาษาร่างกาย เมื่อเข้าตาจน เราเองก็ต้องทำได้ แม้ว่าบางอย่างจะน่าอายไปบ้างก็ตาม  โดยภาษาง่าย ๆ ก็เช่น ที่พัก (ทำท่าหลับ) ร้านอาหาร (ทำท่าทานข้าว) สนามบิน (ทำมือพุ่งเป็นเครื่องบินขึ้น พร้อมร้อง ฟิ้ววววว)  ลองทำดู ต้องมีคนเข้าใจบ้างไม่มากก็น้อย

IMG_1295 copy


ใช้กล้องให้เกิดประโยชน์


อุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่มีประโยชน์กว่าเก็บความทรงจำ เพราะมันเก็บภาษาเอาไว้สื่อสารได้ด้วย ระหว่างทาง หากเจอป้าย หรือโฆษณาที่น่าสนใจ ถ่ายเก็บเอาไว้เลย เอาไว้ใช้โชว์ให้ดูได้ว่า อยากไปที่นี่นะ หรือในร้านอาหารที่มีตัวอย่างอาหารโชว์อยู่หน้าร้าน เช่นที่ญี่ปุ่น ก็สามารถถ่ายภาพอาหารแล้วเปิดให้ที่ร้านดูได้เลยว่าอยากทานจานนี้นะ


อย่ากลัว ยิ้มเข้าไว้


หลาย ๆ คนมักจะแสดงท่าทีลนลาน วิตกและกลัวเวลาที่เกิดปัญหาแล้วไม่มีใครสื่อสารได้ ให้ทำใจเย็น ๆ และพยายามใช้วิธีข้างบนให้หมดทุกวิธี และอย่าลืมยิ้มเข้าไว้ ภาษาสากลที่ไม่ว่าคนชาติไหนก็มักจะยินดีช่วยเหลือเสมอ ลองนึกถึงตัวเอง หากมีฝรั่งทำหน้าตื่นวิ่งมาหาเรา บางทีเราเองนั่นแหละที่ตกใจเสียเอง แต่หากเขาเดินมาสอบถามด้วยภาษาฝรั่งเศสที่เราไม่เข้าใจซักนิด แต่ยิ้มมาอย่างสุภาพ เราเองก็สามารถช่วยเหลือได้อย่างใจเย็นกว่าเหมือนกัน


  APP หรือโปรแกรมเกี่ยวกับภาษามีมากมาย


ในยุคสมาร์ทโฟนครองเมืองแบบนี้ เราสามารถที่จะหาโปรแกรมเสริมที่ช่วยในการแปลภาษาได้อย่างมากมาย ทั้งโปรแกรมแปลประโยค โปรแกรมที่มีเสียงพูด หรือแผนที่แบบต่าง ๆ ฉะนั้นก่อนจะออกเดินทางก็เตรียมตัวให้พร้อม ทั้งสมาร์ทโฟน และแบทเตอรี่เสริมด้วย

IMG_8379 copy

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความกล้าที่จะออกไปเผชิญกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ นั่นเอง อย่าให้กำแพงภาษาเป็นอุปสรรคกับการเดินทาง