จะเป็นอย่างไรถ้าเรา
เอาเนื้อโกเบ มาคั่วกลิ้ง
เอาปูทาราบะมาทำต้มยำ
เอาปลาหิมะมาทำแกงส้ม
และเอาแม่โขงมาผสมกับชาไทย !!!
ส่วนผสมที่ดูเป็นไปไม่ได้นี้ถูกนำมาหลอมรวมกันโดยสองเชฟกะทะเหล็กอาหารไทยและญี่ปุ่น เชฟ ชุมพลและเชฟบุญธรรม พร้อมด้วยมิกโซโลจิสต์จากแม่โขง น่าสนใจใช่ไหมล่ะ แน่นอนว่า Travelkanuman ที่ชื่นชอบศาสตร์แห่งการจับคู่รสชาติเครื่องดื่มค็อกเทลไทยและอาหารทั้งไทยและญี่ปุ่น ไม่พลาดที่จะตอบรับคำเชิญและไปทดสอบด้วยลิ้นของเราเองว่ามันจะออกมาอย่างไร
ณ ร้านอาหารวิวาเรี่ยม
เราได้รับเชิญให้ไปเป็นแขกพิเศษที่มาร่วมทานอาหารมื้อพิเศษ Mekhong ELITE TABLE ที่คัดสรรวัตถุดิบขั้นดีนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อมาทำเป็นอาหารไทยสไตล์ฟิวชั่น ด้วยรสชาติแบบไทยๆ
ตอนเราไปถึงการตกแต่งทั้งร้านเป็นธีมสีแดงทองดูหรูหรา สมกับแบรนด์ Mekhong
ภายในห้องอาหารตกแต่งดูหรูหรา แบบ แคชชวลสบายๆ มีแขกที่ได้รับเชิญมาไม่กี่ท่าน ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่า ทุกคนที่ได้รับเชิญมาเป็นคนพิเศษจริงๆ
Mekhong Thai Sabai
เริ่มด้วยเครื่องดื่มที่เป็นตัวชูโรงหลักของงานนี้ นั่นคือ Mekhong Thai Sabai เป็นส่วนผสมของแม่โขง มะนาวสด ใบโหระพา รสชาติความเข้มข้นของแอลกอฮอล์สามารถแจ้งกับทางบาร์เทนเดอร์ได้ด้วย ซึ่งเราได้โอกาสรับชมการผสมเครื่องดื่มได้อย่างใกล้ชิดตรงบาร์น้ำ ขั้นตอนตั้งแต่การผสมเหล้าแม่โขงลงที่แก้วตวงและนำไปต้มได้กลิ่นหอมของแอลกอฮอล์ระเหยออกมา จนถึงขั้นตอนนำมาเทใส่แก้วเสิร์ฟต้องยอมรับว่า รสชาติกลมกล่อม ลืมความขมของแอลกอฮอล์แบบที่กังวลกันไปได้เลยทีเดียว
หอยเชลล์ย่างต้มข่าเอสพลูม่า
หอยเชลล์สดมากเนื้อหวานนุ่มธรรมชาติ หอมเครื่องแกงแบบไทยๆแต่รสชาติเป็นแนวฟิวชั่นออกรสกลางๆไม่จัดจ้านชาวต่างชาติทานได้
พล่าปลาฮามาจิสมุนไพร
พล่าปลาฮามาจิสมุนไพร เสิร์ฟกับค็อกเทลตัวเก่ง Mekhong Thai Sabai จานนี้จุดเด่นอยู่ที่ เนื้อปลาฮามาจิสดนำมาย่างจนสุกกำลังดีคลุกเคล้ากับเครื่องยำสมุนไพรของไทยเรา รสชาติที่ออกมาเปรี้ยวหวานตัดกันกำลังพอเหมาะ ทานกับค็อกเทลที่มีรสชาติกลมกล่อมออกเปรี้ยวอมหวานจากมะนาวที่เป็นส่วนผสม ทำให้ถูกปากคนชอบทานรสจัดจ้านออกเปรี้ยวแบบเรา
ปลาฮามาจิ เป็นชื่อที่เราเริ่มได้ยินมากขึ้นจากร้านอาหารญี่ปุ่น มีหลาย ๆ ร้านนำเอาปลาชนิดนี้มาทำอาหารอย่างแพร่หลาย แต่บางร้านก็เรียกว่าปลาบุริ ทั้ง ๆ ที่หน้าตาก็เหมือนกัน สร้างความงุนงงให้เราบ่อย ๆ
จริง ๆ แล้วปลาชนิดนี้คือปลาหางเหลือง หรือเรียกว่าปลาบุรินั่นแหละ แต่ชาวญี่ปุ่นจะเรียกชื่อของปลาแตกต่างกันไปตามวัยของปลา (ถ้านึกภาพไม่ออกเหมือนเราเรียกลูกอ็อด ก่อนจะมาเป็นกบนั่นแหละ ) โดยปลาหางเหลืองนั้นมีชื่อเรียกเรียงตั้งแต่เล็กจนโตว่า โมจาโกะ วากานะ ซึบาสึ ฮามาจิ เมะจิโระ บุริ ( แบ่งละเอียดมาก ) ฉะนั้นไม่ว่าจะชื่ออะไรก็เป็นปลาหางเหลืองเหมือน ๆ กัน
ฉะนั้นคราวหน้าก็ไม่ต้องงงว่าทำไมบางร้านเรียกฮามาจิบางร้านเรียกบุริ เพราะในไทยเราไม่ได้แบ่งวัยของปลาละเอียดขนาดที่ญี่ปุ่น
ต้มยำปูทาราบะ
ต้มยำปูทาราบะ เนื้อปูสด ทุบก้ามมาแล้วทำให้ทานสะดวกขึ้น เครื่องต้มยำถึง กลิ่นหอม รสจัดแต่อาจจะด้วยทำเสร็จแล้วรอยกมาเสิร์ฟพร้อมกัน เพราะแม้จะแยกน้ำต้มยำใส่ถ้วยมาเทเสิร์ฟที่โต๊ะ แต่น้ำต้มยำออกจะเย็นไปนิดเลยทำให้รสชาตออกมาติดเค็ม ด้วยส่วนตัวเป็นคนไม่ทานรสเค็ม เพราะต้มยำถ้าจะให้ออกรสเต็มที่ควรเสิร์ฟตอนทำเสร็จใหม่ๆน้ำแกงร้อนๆ
แกงส้มใต้ปลาหิมะนึ่งอุด้งญี่ปุ่น
Main course จานแรก แกงส้มใต้ปลาหิมะนึ่งอุด้งญี่ปุ่น เสิร์ฟคู่กับค็อกเทล Siam Sparkling ตัวปลาหิมะเนื้อสดมาก นำมาทำแกงส้มใต้บ้านเรา หรือแกงเหลือง ตรงนี้ต้องออกตัวก่อนว่าด้วยส่วนตัวครอบครัวเป็นคนใต้ จึงจะทานรสใต้แท้ และเนื้อปลาถ้าอาหารไทยควรจะนำลงไปต้มให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ในจานนี้จะออกแนวเป็นฟิวชั่น คือ ปลาจะถูกวางไว้บนเส้นอุงด้งที่แช่ในน้ำแกงขลุกขลิก การจัดจาน กับไอเดียถือว่าผ่านน่าสนใจ แต่ปกติเป็นคนทานอาหารรสจัดและถ้าเป็นอาหารใต้แท้ๆจานนี้เลยไม่ถูกปากเท่าไหร่ ยิ่งทานคู่กับ ค็อกเทล Siam Sparkling เลยทำให้การทานอาหารจานนี้ออกจะจืดไปนิดนึง แต่โดยรวมถือว่าผ่านกับการเป็นอาหารแนวฟิวชั่น
เนื้อโกเบสองแผ่นดินกลิ่นแม่โขง
Main course จานที่สอง เนื้อโกเบสองแผ่นดินกลิ่นแม่โขง ( แกงรัญจวน คั่วกลิ้ง และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ) เสิร์ฟคู่กับ Mekhong Cha-Thai
จานนี้มีความพิเศษตรงแกงรัญจวน ซึ่งเป็นอาหารไทยโบราณหาทานได้ยาก มาผสมผสานกับเนื้อโกเบผัดคั่วกลิ้ง ทานกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ แกงรัญจวนถือว่ารสชาติกำลังดี อาจจะไม่จัดจ้านแต่ก็คงความเป็นดั้งเดิมไว้ได้ แต่ในส่วนของเนื้อโกเบคั่วกลิ้ง ด้วยจริงๆมีเนื้อคุโรบุตะกับโกเบให้เลือก และเราเลือกเนื้อ ด้วยลักษณะพิเศษของเนื้อโกเบจะมีความมัน ไขมันค่อนข้างเยอะ
พอมาผัดคั่วกลิ้งแม้เชฟจะพยามทำให้แห้งที่สุดแล้วก็ตามแต่เมื่ออาหารทำเสร็จแล้วทิ้งช่วงเวลาไว้ก่อนเสริ์ฟก็ย่อมมีน้ำมันออกมาเองโดยธรรมชาติ และ ด้วยส่วนตัวทานรสเผ็ดจัดแบบปักษ์ใต้ที่ไม่ทานเค็ม รสชาติจานนี้ติดเค็มไปนิด แม้จะทานกับข้าวไรซ์เบอร์รี่แล้วก็ตาม อาหารจานนี้เสิร์ฟคู่กับค็อกเทล Mekhong Cha Thai สำหรับส่วนตัวทำให้รสชาตจืดลง เพราะปกติทานอาหารรสเผ็ดเปรี้ยว จัดจ้าน แต่จานนี้ติดเค็มและรสชาติยังไม่เผ็ดแบบคั่วกลิ้งดั้งเดิม แต่ถ้าหากจัดทำรสชาติให้เป็นแบบกลางๆจานนี้ถือว่า ผ่านในสไตล์ฟิวชั่นเต็มๆ ทั้งหน้าตาการตกแต่งและ ไอเดียในการผสมผสานอาหารไทยกับวัตถุดิบจากญี่ปุ่น
พูดถึงเนื้อโกเบหลาย ๆ คนคงรู้อยู่แล้วว่ามาจากโกเบ แต่ก็มีคนเข้าใจผิดอยู่มาก โดยนึกว่าโกเบเป็นจังหวัด แต่จริง ๆ แล้ว โกเบเป็นเขตปกครองหนึ่งในจังหวัดเฮียวโงะ ถ้าให้เทียบง่าย ๆ ก็เหมือนพัทยาที่เป้นเขตปกครองในจังหวัดชลบุรีนั่นแหละ
เนื้อโกเบถือเป็นเนื้อชั้นดีของโลก มีราคาสูงมาก ๆ โดยมีการแบ่งระดับของเนื้อเป็นเกรด โดยเกรด A5 ถือเป็นเนื้อชั้นดีที่สุด มีราคาขายถึงกว่ากิโลกรัมละ 5 หมื่นบาทเลยทีเดียว
ใครมีโอกาสไปเที่ยวโกเบอย่าลืมลองหาร้านเนื้อโกเบทานดูล่ะ ร้านราคาถูก ๆ ที่ใช้เนื้อเกรดต่ำลงมาก็มีอยู่มากมาย ราคาไม่ได้แพงมาก ตกมื้อละ 1000 บาทก็มีอยู่หลายร้านทีเดียว
ไรซ์เบอร์รี่เครปเค้ก
ไรซ์เบอร์รี่เครปเค้ก ไอศครีมกะทิสด จานนี้ชอบที่สุดในทุกจานที่เสิร์ฟ ตัวแป้งเครปเค้กไม่หนาจนเกินไป แป้งนุ่ม หอมกลิ่นไรซ์เบอร์รี่ รสชาติหวานน้อยมาก เรียกว่าพอดีกับคนไม่ชอบทานหวานทานเค็มแบบเรา ตกแต่งด้วยปิดทองด้านบนเพิ่มความสวยงามน่าสนใจ ทานคู่กับไอศครีมกะทิสด ที่เสิร์ฟมาบนตะกร้าที่ทำมาจากน้ำตาลเชื่อมแข็งตัว ต้องทานไอศครีมคู่กับน้ำตาล ด้วยถ้าทานไอศครีมเปล่าๆรสชาตจะติดเค็มไปนิดนึง แต่ถ้าทานทุกอย่างพร้อมกัน จานนี้ถือว่าลงตัวที่สุดในทุก ๆ จานที่นำมาเสิร์ฟในค่ำคืนนี้
ต้องขอขอบคุณ Mekhong ที่ให้เราไปสัมผัสประสบการณ์ดี ๆ กับกิจกรรม Mekhong ELITE TABLE ทำให้เปิดประสบการณ์ได้เป็นอย่างดีทีเดียว และหากใครอยากสัมผัสความเป็นเลิศของศาสตร์นี้ มาทานกันได้ที่ร้านวิวาเรียม บาย เชฟ มินิสทรี่